สีย้อมไม้ (Wood Stain) มีกี่ประเภท และมีวิธีนำไปใช้งานอย่างไร

Last updated: 11 ก.ย. 2567  |  33655 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สีย้อมไม้-ปก

การเลือกสีทาหรือสีย้อมไม้เป็นขั้นตอนสำคัญในการดูแลรักษาเฟอร์นิเจอร์และโครงสร้างไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับไม้สักที่มีคุณค่า การเลือกใช้สีที่เหมาะสมไม่เพียงแต่เพิ่มความสวยงาม แต่ยังช่วยยืดอายุการใช้งานของไม้ให้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนจะไปทำความรู้จักกับวิธีทาสีย้อมไม้ เทคนิคการย้อมสีไม้สัก หรือแม้แต่คำถามว่าสีย้อมไม้ยี่ห้อไหนดี มาทำความเข้าใจกันก่อนว่าสีย้อมไม้คืออะไรกันแน่

สีย้อมไม้คืออะไร

 

 

ในวงการก่อสร้าง ตกแต่งบ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์ไม้ แม้จะพูดว่า ‘สี’ แต่จริงๆ แล้ว สีย้อมไม้ คือ ของเหลวที่มีลักษณะโปร่งใสใช้สำหรับทาไม้ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Wood Stain เป้าประสงค์ในการใช้งานก็เพื่อที่จะรักษาสภาพเนื้อไม้ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น เมื่อทาแล้วจะยังเห็นลวดลายเดิมของไม้อยู่ ไม่ได้เป็นการย้อมสีของไม้ตามชื่อของมัน แต่ทั้งนี้ก็สามารถปรับความเข้มของเฉดสีได้โดยการทาซ้ำหลายครั้ง เมื่อตัวสีซึมผ่านเข้าเนื้อไม้จะช่วยป้องกันไม่ให้สีหลุดล่อนเมื่อไม้ยืดหรือหดตัวตามสภาพอากาศอีกด้วย

เมื่อเข้าใจแล้วต่อไป เรามาทำความรู้จักกับการแบ่งประเภทพร้อมวิธีนำไปใช้ ซึ่งต้องแยกให้ชัดเจนระหว่าง

1. การแบ่งตามส่วนประกอบทางเคมี 

การแบ่งประเภทของสีย้อมไม้ตามส่วนประกอบทางเคมีจะพิจารณาจากส่วนผสมหลักของตัวสี ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลัก คือ สีย้อมไม้สูตรน้ำมันและสีย้อมไม้สูตรน้ำ โดยแต่ละประเภทมีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมและความต้องการของผู้ใช้งานนั่นเอง

2. การแบ่งตามชนิดความเงางาม 

การแบ่งประเภทสีย้อมไม้ตามชนิดความเงางามจะพิจารณาจากคุณสมบัติที่เกิดขึ้นกับไม้หลังการทา โดยดูว่ามีความเงางามและช่วยเสริมคุณภาพของไม้ได้มากน้อยเพียงใด เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับงานแต่ละประเภท

ประเภทของสีย้อมไม้แบ่งตามส่วนประกอบทางเคมี

 

 

ประเภทของสีย้อมไม้แบ่งตามส่วนประกอบทางเคมีแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ สีย้อมไม้สูตรน้ำมันและสีย้อมไม้สูตรน้ำ สีย้อมไม้สูตรน้ำมันมักให้การปกป้องที่ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดี ในขณะที่สีย้อมไม้สูตรน้ำจะเหมาะสำหรับงานที่อยากให้แห้งเร็วและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

1. สีย้อมไม้สูตรน้ำมัน 

วิธีทาสีย้อมไม้สูตรน้ำมันต้องผ่านการผสมกับทินเนอร์ราวๆ 10% เพื่อให้เกิดการละลายและซึมเข้าสู่ผิวไม้ได้เป็นอย่างดี สามารถใช้ได้ทั้งงานภายนอกและภายใน เนื้อสีมีความชัดและไม่ค่อยหลุดไปจากสีเดิมของเนื้อไม้ ทาแค่ 2 รอบก็อยู่ตัว ทว่าจุดด้อยเล็กๆ คือ มีกลิ่นฉุนมาก แห้งช้า และสำคัญคือ เมื่อคิดว่าจะใช้สีย้อมไม้ยี่ห้อไหนดีแล้วก็ต้องเลือกทินเนอร์ยี่ห้อเดียวกันด้วย

2. สีย้อมไม้สูตรน้ำ

สีย้อมไม้สูตรน้ำเป็นสูตรสำเร็จสำหรับการย้อมสีไม้สักของคนมีเวลาน้อย เนื่องจากไม่ต้องผสมใดๆ ทั้งสิ้นก็ลงมือทาได้ทันที หรือถ้าต้องผสมก็อาจเติมน้ำลงไปนิดหน่อยเพื่อให้เกิดความเจือจาง ง่ายต่อการทา จุดเด่นคือ เนื้อด้านนอกจะมีลักษณะเหมือนฟิล์มเคลือบ จึงยึดเกาะได้ดีมากๆ ไม่ฉุน แห้งไว ไม่มีส่วนผสมของสารอันตราย เช่น ปรอท ตะกั่ว มั่นใจว่าปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและผู้สัมผัส แต่จุดด้อยเล็กๆ คือ มักใช้กับงานภายในเท่านั้น และต้องลงสีทับหลายรอบ

ประเภทของสีย้อมไม้แบ่งตามชนิดความเงางาม

 

 

การแบ่งประเภทสีย้อมไม้ตามความเงางามอาจเรียกได้ว่าเป็นการเลือกสีย้อมไม้ชนิดเงาก็คงไม่ผิดนัก เพราะโดยหลักแล้วจะแบ่งจากคุณสมบัติด้านความเงาหลังทาสีย้อมไม้เรียบร้อย และยังมีคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติมด้วย โดยแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ สีย้อมไม้กึ่งเงา สูตรเงา และสูตรใส

1. สูตรกึ่งเงา

สีย้อมไม้กึ่งเงาจะโปร่งแสง เมื่อทาแล้วจะออกเป็นกึ่งใสกึ่งด้าน ทนต่อแสงยูวี ให้อารมณ์ความเป็นธรรมชาติสูงจากลวดลายดั้งเดิมของตัววัสดุที่ทา มีสารป้องกันเชื้อรา ใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ประตู หน้าต่าง เก้าอี้สนาม

2. สูตรเงา

สีย้อมไม้สูตรเงามีความโปร่งแสงเช่นกัน ให้อารมณ์แบบธรรมชาติในสีสันคลาสสิก นิยมใช้กับงานไม้ที่ต้องการความคงทนทั้งที่ทำจากไม้เนื้ออ่อนและแข็ง ไม่ว่าจะผิวขัดแล้วหรือยังไม่ได้ขัดก็สวยงาม กันน้ำได้ดี ป้องกันรังสียูวี มีสารป้องกันเชื้อรา ใช้ได้กับภายในและภายนอก แต่จะนิยมกับเฟอร์นิเจอร์หรือชิ้นส่วนที่ต้องสัมผัสกับสภาพอากาศรุนแรงบ่อยๆ จะไม้เก่าหรือใหม่ก็ไร้ปัญหา

3. สูตรใส

สีย้อมไม้สูตรใสจะทำให้เนื้อไม้จะดูเงางาม ตัวสีมีความโปร่งแสง เหมาะกับชิ้นงานที่มีลายไม้สวยๆ อย่างเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก เพราะได้โชว์เต็มที่ ลายและสีสันดูสดขึ้น ทนแดด นอกจากเฟอร์นิเจอร์ลายสวยๆ ยังนิยมใช้ทาผนังบ้าน วงกบส่วนต่างๆ เพื่อให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น

เทคนิคและขั้นตอนการทาสีย้อมไม้

 

 

ขั้นตอนการทาสีย้อมไม้จริง ๆ แล้วไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก แม้เป็นมือใหม่ก็สามารถเริ่มต้นจับแปรงแล้วลงมือได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สีย้อมไม้ภายนอกสำหรับไม้ที่ต้องเจอกับแดดฝน สีย้อมไม้สักใช้ทาเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก สีย้อมไม้ทาทับสีเก่า สีย้อมไม้ธรรมชาติ หรือสีย้อมเนื้อไม้ประเภทอื่น ๆ 

  • ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการทาสียอมไม้นั้น อาจไม่ได้หมายถึงการทาเพียงสีย้อมไม้แค่ชั้นเดียว โดยมากจะต้องมีการทาผลิตภัณฑ์หลายชั้น เช่น มีการลงน้ำยาปรับสภาพไม้ก่อน เป็นต้น

  • ทริคแรกที่สำคัญคือ การเลือกผลิตภัณฑ์ปรับสภาพผิวไม้ สีย้อมไม้ และน้ำยาเคลือบ นั้นควรเลือกไปในทิศทางเดียวกัน หากเลือกเป็นน้ำมันตั้งแต่ตัวแรก ที่เหลือที่ตามมาก็ควรเป็นน้ำมันทั้งหมด 

  • ก่อนเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ควรทำความสะอาดพื้นผิวไห้สะอาด แห้ง และเรียบเนียน ก่อนจะทาน้ำยาปรับสภาพผิวไม้ลงไป

  • ทาสีย้อมไม้ด้วยแปรงทาสี ให้ทดสอบทาบริเวณเล็กๆ ก่อนเพื่อดูการซึบซับน้ำยาว่าเรียบร้อยดี ไม่เป็นปัญหา จึงค่อยทาได้ตามปกติให้ทั่วพื้นผิวที่ต้องการ ทาด้วยความระมัดระวังไปในทิศทางเดียวกันสม่ำเสมอ คอยระวังอย่าให้เกิดฟองอากาศหรือเลอะเทอะ

  • รอให้พื้นผิวไม้ค่อยๆ ซึมซับสีย้อมไม้ประมาณ 5-15 นาที ให้คอยสังเกตสีของไม้ไปด้วย ยิ่งทิ้งไว้นานพื้นผิวไม้จะมีสีเข้มมากขึ้น

  • หากได้สีที่พอใจแล้วให้ใช้ผ้าเช็ดน้ำยาส่วนเกินออก ไม่ปล่อยให้น้ำยาที่ไม่ถูกซึมซับให้กลายเป็นคราบ ทิ้งไว้จนกว่าจะแห้งสนิทอย่างน้อย 8 ชั่วโมง

  • หลังจาก 8 ชั่วโมงถ้าอยากถ้าสีย้อมไม้ซ้ำก็ทำได้ หรือถ้าหากพอใจในลักษณะและสีของพื้นผิวไม้แล้วก็ให้ใช้น้ำยาเคลือบเป็นขั้นตอนสุดท้ายเป็นอันเสร็จ

  • น้ำยาเคลือบเองก็เช่นกัน เหมือนกับสีย้อมไม้ ที่สามารถทาได้หลายรอบ แต่อย่าลืมว่าต้องทิ้งไว้อย่าน้อย 2 วัน ก่อนเริ่มเคลือบครั้งใหม่


 

เมื่อเข้าใจถึงประเภทและการใช้งานของสีย้อมไม้กันแล้ว ก็ลองดูว่าจะเลือกสีย้อมไม้ ยี่ห้อไหนดีที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ เพื่อให้ชิ้นงานออกมาสวยโดนใจตามแบบฉบับของตนเอง ซึ่งราคาสีย้อมไม้เกรดคุณภาพสูงไม่ได้แพงอย่างที่คิด ยอมลงทุนจ่ายเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ พร้อมตอบโจทย์ความคุ้มค่าในครั้งเดียวจะดีที่สุด มองไปเมื่อไหร่ก็รู้สึกถึงความสุขได้ตลอด

หากคุณชื่นชอบเฟอร์นิเจอร์ไม้ และกำลังมองหาเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นใหม่ อย่าลืมลองเยี่ยมชมแคทตาล็อคเฟอร์นิเจอร์ไม้สักคุณภาพเยี่ยมจากเรา Taweesak Furniture นะคะ เราทำเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นอย่างใส่ใจ และรู้จริงเรื่องเฟอร์นิเจอร์ไม้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว นโยบายคุกกี้